เอาเต้านมเทียมออก

กรณีที่ทำหน้าอกมาแล้ว ต้องการที่จะเอาออก  มีวิธีการอย่างไร  และวิธีที่เรียกว่า capsulotomy, capsulectomy และ en-bloc ต่างกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

เหตุที่ต้องเอาออก

เมื่อต้องการเสริมหน้าอกแล้ว อาจมีความจำเป็นต้องเอาเต้านมเทียมออกถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพหรือปัญหาด้านความสวยงาม  ปัญหาทางสุขภาพที่เป็นเหตุต้องเอาเต้านมเทียมออก เช่น มีพังผืดรอบเต้านมเทียมหนามากหรือรัดรุนแรง (capsular contracture) เต้านมเทียมแตกรั่ว (implant rupture) มีน้ำคั่งในโพรงเต้านมเทียม (seroma) เกิดการติดเชื้อ เกิดมีมะเร็งขึ้นที่พังผืดรอบเต้านมเทียม เป็นต้น  ปัญหาด้านความสวยงาม เช่น ขนาดใหญ่ไปหรือเล็กไป วางเต้านมเทียมสูงไปต่ำไปชิดในเกินไปห่างจากกันเกินไป วางเต้านมเทียมซ้ายขวาที่ตำแหน่งไม่เหมือนกัน  ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีความจำเป็นต้องเอาเต้านมเทียมออก

ไม่เป็นความจริงที่ต้องเปลี่ยนเต้านมเทียมทุก 5 หรือ 10 ปี

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การเอาเต้านมเทียมออกต้องอาศัยการผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง และต้องมีแผลผ่าตัด  ยังไม่มีวิธีใดในโลกนี้ที่จะเนรมิตเอาเต้านมเทียมออกจากร่างกายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด  เต้านมเทียมที่ผลิตมาใช้กันในปัจจุบันยังใช้ซิลิโคนเป็นวัสดุหลักในการทำเป็นถุง  โดยภายในถุงซิลิโคนจะบรรจุสารอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ซิลิโคนเจลหรือน้ำเกลือ  ถ้าเป็นเต้านมเทียมชนิดที่บรรจุน้ำเกลือ แน่นอนว่าสามารถใช้เข็มเจาะดูดน้ำเกลือออกจนเต้านมเทียมเหี่ยวแฟบได้  ฟังดูแล้วเหมือนว่า จะไม่ต้องผ่าตัด ก็กลับมามีนมเล็กลงได้

จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

ในความเป็นจริง การเจาะดูดน้ำเกลือออกจากเต้านมเทียม ไม่ได้ตรงไปตรงมา  เต้านมเทียมที่ใช้กันมีขนาดเป็นหลายร้อยซีซี หากจะเจาะดูดออกด้วยเข็ม ก็ต้องใช้เข็มใหญ่หน่อย คือเบอร์ 20 หรือใหญ่กว่านั้น จะได้เสร็จเร็ว  เข็มที่ใช้เจาะเลือดกันมีขนาด 22-24 บางคนก็ยังบ่นว่าเจ็บ  เข็มที่คนเป็นเบาหวานใช้ฉีดอินซูลินเข้าร่างกายตัวเองทุกวันมีขนาด 29-30 เล็กกว่ามาก  นั่นหมายความว่า ถ้าจะเจาะดูดน้ำเกลือออก ต้องฉีดยาชา ณ ตำแหน่งที่จะแทงเข็ม ไม่อย่างน้ันจะเจ็บมาก  เมื่อเจาะดูดไปเรื่อย ๆ จนเเหลือน้อย ๆ ไม่ถึง 100 ซีซี การไหลออกทางเข็มก็จะเริ่มไม่สม่ำเสมอและยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปลายเข็มอาจไม่ได้จุ่มในน้ำตลอดเวลา  เราต้องขยับปลายเข็มอันแหลมคมตามไปอยู่ในน้ำที่ลดระดับลงเรื่อย ๆ  คงจะพอเดากันได้ว่าจะอันตรายแค่ไหนที่ต้องใช้เข็มที่ทั้งใหญ่ทั้งยาวปักคาอก เคลื่อนลึกลงไปเรื่อย ๆ เพื่อดูดน้ำเกลือออกให้มากที่สุด  ดีไม่ดี ปักลึกไปทะลุเข้าปอด  ถ้าข้างซ้าย ปักเข้าหัวใจได้  จะให้ปลอดภัยขึ้นก็ต้องทำโดยมีการใช้เครื่องอัลตราซาวน์ส่องกำกับไปด้วย  ไม่ง่ายเลย  แถมข้างซ้ายข้างขวาอาจดูดออกได้ไม่เท่ากัน เหลือนมใหญ่เล็กซ้ายขวาไม่เท่ากัน  ที่สำคัญคือ ถุงเต้านมเทียมที่เหลืออยู่ไม่ใช่ว่าจะนิ่มจนคลำไม่เจอ  อาจคลำได้แบบเวลาเราคลำถุงพลาสติกที่ย่นยู่ แต่นี่ย่นยู่อยู่ในเต้านมเรา  และถ้าเป็นเต้านมเทียมชนิดที่บรรจุซิลิโคนเจล เจาะดูดไม่ได้แน่นอน  คนที่จะเอาเต้านมเทียมออกเพราะไม่ต้องการมีสิ่งแปลกปลอมอย่างซิลิโคนในร่างกาย วิธีการนี้ก็ไม่เอาแน่  นั่นหมายความว่า ยังไงเราก็ควรผ่าตัดเอาเต้านมเทียมออกทั้งหมดไม่ให้เหลือถุงอยู่เลยจะดีกว่า แน่นอนกว่า ปลอดภัยกว่า  คำถามต่อไปคือ แล้วการผ่าตัดเอาถุงเต้านมเทียมออกมันยากง่ายแค่ไหน

พังผืดรอบเต้านมเทียม

ร่างกายถือว่าซิลิโคนเป็นสิ่งแปลกปลอมและไม่ค่อยยอมรับมัน  เมื่อเอาซิลิโคนไปใส่ไว้ในร่างกาย ไม่จะเสริมคาง เสริมจมูก เสริมแก้ม เสริมก้น หรือเสริมนม ร่างกายตอบสนองเหมือนกันหมดคือ สร้างพังผืดมาหุ้มรอบ (fibrous capsule) กันแยกซิลิโคนออกจากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ   พังผืดนี้รัดไล่ซิลิโคน ไม่อยากให้อยู่ในตัว  พังผืดนี้ถ้าบางก็ไม่เป็นไร แต่ก็อาจหนาตัวได้มากจนทำให้นมทั้งนมแข็งกว่าปกติ มองเห็นขอบชัด (capsular contracture)  พังผืดนี้อาจมีแคลเซียมมาสะสม นานปีเข้ากลายเป็นเม็ดหินปูนเต็มไปหมด (calcification) นมผิดรูป นมแข็งมากและตั้งชูขนาดที่ว่า แม้จะเอาเต้านมเทียมออกไปแล้ว นมก็ยังตั้งชูอยู่ บางรายอาจมีความเจ็บปวดร่วมด้วย (capsular contracture ชนิดรุนแรง)  บางรายก็มีเซลมะเร็งมาเกาะอยู่ที่พังผืด (เรียกว่า breast implant-associated anaplastic large cell lymphoma หรือ BIA- ALCL)   แล้วแบบนี้ เวลาผ่าตัดเอาเต้านมเทียมออก เราควรจะทิ้งพังผืดเอาไว้หรือไม่ นี่แหละเป็นประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกัน

วิธีเอาเต้านมเทียมออก

การเอาเต้านมเทียมออก ทำได้ 5 วิธี ดังนี้

1. เอาเฉพาะเต้านมเทียมออกอย่างเดียว (removal of breast implants only)

วิธีนี้ทำง่ายที่สุด เปิดแผลผิวหนัง เลาะลึกจนเจอพังผืดที่หุ้มเต้านมเทียม เจาะพังผืดเปิดเป็นรูเพื่อล้วงเอาเต้านมเทียมออก สามารถทำเสร็จได้ภายในเวลาไม่ถึง 15-30 นาที โดยจะช้าเร็วอยู่ที่การเย็บปิดแผลเสียมากกว่า หรือมีการตกแต่งแผลเป็นด้วยหรือไม่ แต่ต้องทราบว่าโพรงเต้านมเทียมจะยังคงอยู่ในหน้าอก ไม่หายไปไหน  และตอนที่เปิดพังผืดเป็นรูเพื่อเอาเต้านมเทียมออก สิ่งที่ตกค้างอยู่ในโพรงเต้านมเทียม เช่น ซิลิโคนเจลที่ซึมรั่วออกมาจากผนังเต้านมเทียม เชื้อโรค สามารถปนเปื้อนเนื้อเยื่อตรงปากแผลผ่าตัดและยังคงตกค้างอยู่ในโพรไว้ว้เต้านมเทียมที่ทิ้งไว้ (แม้จะพยายามล้างด้วยน้ำ ก็อาจจะออกได้ไม่หมด)

2. เอาเต้านมเทียมออก แล้วกรีด ๆ พังผืดโดยรอบให้เป็นแผล (removal of breast implant, capsulotomy)

ทำเพิ่มหลังเอาเต้านมเทียมออกแล้ว  โดยส่องเข้าไปภายในโพรงที่เคยมีเต้านมเทียม (implant pocket) แล้วกรีดสร้างแผลยายาวเป็นเส้นหลาย ๆ เส้นจนทั่ว (scoring)  หวังผลว่าเมื่อเอาเต้านมเทียมออกไปแล้ว ผนังของโพรงด้านหนึ่งที่มีแผลหลาย ๆ เส้นจะมีการเชื่อมกับผนังของโพรงอีกด้านที่มีแผลเส้น ๆ เช่นกัน ทำให้โพรงเต้านมเทียมนั้นปิดตัวไปได้  นอกจากนี้แผลเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้มีเลือดออกมา เซลต่าง ๆ ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย บบ และยาฆ่าเชื้อโรคที่ไหลมากับเลือดสามารถเข้ามาในโพรงได้ด้วย

3. เอาเต้านมเทียมออก แล้วตัดเลาะพังผืดออกแต่ไม่หมด (removal of breast implant, subtotal capsulectomy)

วิธีนี้ไม่ได้แค่กรีดให้มีแผลที่ผนังของโพรงเต้านมเทียมที่เป็นพังผืด แต่เลาะเอาแผ่นพังผืดออกเลย  เพียงแต่ว่าพังผืดบางบริเวณอาจจะดูดี คือ บางมาก ก็เลยไม่เลาะทิ้งเพราะดูว่าไม่คุ้ม จะเป็นการทำลายเนื้อเยื่อดี ๆ รอบ ๆ ที่แนบติดพังผืดอยู่  แผลที่เกิดขึ้นหลังเลาะเอาพังผืดออกแบบนี้มีพื้นที่กว้างกว่าแผลที่เกิดจากการกรีดเป็นเส้น ๆ มาก ทำให้โพรงเต้านมเทียมปิดตัวลงได้ดีกว่า แถมภูมิต้านทานของร่างกายและยาปฏิชีวนะเข้ามาในโพรงเต้านมเทียมได้ดีกว่า แต่ก็มีโอกาสสูงกว่าที่จะมีเลือดตกค้างในโพรงเป็นปริมาณมาก จึงมักจะต้องวางท่อระบาย (drain) ไว้ด้วย

4. เอาเต้านมเทียมออก แล้วตัดเลาะพังผืดออกจนหมด (removal of breast implant, total capsulectomy)

เลาะเอาพังผืดทิ้งออกทั้งหมด กรณีนี้ไม่ต้องการให้มีเนื้อพังผืดที่เป็นผนังของโพรงเต้านมเทียมเหลืออยู่ในร่างกายเลย  วางท่อระบายไว้ด้วยเพื่อป้องกันเลือดตกค้างในโพรง  แน่นอนว่าต้องใช้เวลาผ่าตัดนานขึ้น หมอผ่าตัดต้องใช้ความพยายามมากขึ้นด้วย

เต้านมเทียมถูกนำออกมาก่อน ค่อยเลาะพังผืดที่หุ้มออกทีละส่วน ๆ จนหมด สังเกตได้ว่าเต้านมเทียมข้างขวามีการแตกและซิลิโคนเจลยื่นหลุดออกมา
เต้านมเทียมถูกนำออกมาก่อน ค่อยเลาะพังผืดที่หุ้มออกทีละส่วน ๆ จนหมด สังเกตได้ว่าเต้านมเทียมข้างขวามีการแตกและซิลิโคนเจลยื่นหลุดออกมา
5 เอาเต้านมเทียมและพังผืดที่หุ้มรอบออกแบบพร้อมกันเป็นชิ้นเดียว (en-bloc removal of breast implant)

วิธีนี้ไม่เจาะเปิดโพรงเต้านมเพื่อเอาเต้านมเทียมออก แต่เริ่มด้วยการเลาะไปรอบ ๆ พังผืดที่หุ้มเต้านมเทียมทั้งลูก  จึงค่อยเอาทั้งพังผืดที่หุ้มและตัวเต้านมเทียมออกมาพร้อมกันทั้งลูก  วัตถุประสงค์ก็เพื่อไม่ให้มีอะไรที่ตกค้างอยู่ในโพรงเต้านมเทียม เช่น ซิลิโคนเจลที่ซึมรั่วออกมาจากผนังเต้านมเทียม เชื้อโรค  ได้มีโอกาสรั่วไหลออกมาสัมผัสกับเนื้อเยื่อของร่างกายเลย  วิธีนี้ทำได้ยากที่สุด ต้องใช้ฝีมือมากในการรักษาพังผืดที่หุ้มไม่ให้ฉีกขาดเละเทะ  แผลผ่าตัดต้องใหญ่ประมาณความกว้างฝ่ามือศัลยแพทย์  ใช้เวลาผ่าตัดนาน 3-4 ชั่วโมง  ต้องวางท่อระบายไว้เสมอ

breast_implant_removal.implants-by-en-bloc-being-removed
เต้านมเทียมที่กําลังถูกเอาออกโดยเทคนิค en-bloc
breast_implant_removal.implants-by-en-bloc
เต้านมเทียมที่เอาออกมาโดยเทคนิค en-bloc ยังคงมีพังผืดคลุมหุ้มอยู่

ตารางเปรียบเทียบวิธีการเอาเต้านมเทียมออก

เอาเต้านมเทียมออกอย่างเดียว เอาเต้านมเทียมออก และกรีดพังผืดโดยรอบ เอาเต้านมเทียมออก และเอาพังผืดบางส่วบางส่วนออก เอาเต้านมเทียมออก และเอาพังผืดออกทั้งหมด เอาเต้านมเทียมและพังผืดที่หุ้มออกพร้อมกันเป็นชิ้นเดียว
ชื่อการผ่าตัด removal of breast implants only removal of breast implant, capsulotomy removal of breast implant, subtotal capsulectomy removal of breast implant, total capsulectomy en-bloc removal of breast implant
ประมาณระยะเวลาผ่าตัด < 1 ชม. 1 ชม. 2 ชม. 3 ชม. 4 ชม.
พังผืดที่เหลืออยู่ เหลือทั้งหมด เหลือทั้งหมด เหลือบางส่วน ไม่มีเหลือ ไม่มีเหลือ
โอกาสที่สิ่งที่ตกค้างอยู่ในโพรงเต้านมเทียมจะสัมผัสกับเนื้อเยื่อของร่างกาย น้อยมาก มีการสัมผัสเฉพาะตรงแผลผ่าตัดตอนที่เอาเต้านมเทียมออก น้อยมาก มีเฉพาะที่แผลผ่าตัดตอนเอาเต้านมเทียมออกและตรงแผลกรีดที่ผนังโพรงเต้านมเทียม มีพอสมควร ตรงแผลผ่าตัดตอนเอาเต้านมเทียมออกและตรงพื้นที่ทั้งหมดที่เอาพังผืดออก มาก ทั้งตรงแผลผ่าตัดตอนเอาเต้านมเทียมออกและตรงพื้นที่ทั้งหมดที่เอาพังผืดออก น้อยมาก เฉพาะตรงรอยฉีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัดเลาะแยกพังผืดออก
การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบโพรงเต้านมเทียม ไม่มี น้อยมาก มีตรงพื้นที่ที่เลาะเอาพังผืดออก มีมาก ตลอดพื้นที่ที่เลาะเอาพังผืดออก มีมาก ตลอดพื้นที่ที่เลาะเอาพังผืดออก
การคงอยู่ของโพรงเต้านมเทียม คงอยู่ทั้งหมด ถ้ามีการผ่าตัดอีก ก็จะพบโพรงเดิม คงอยู่ แต่อาจมีการเชื่อมติดของผนังสองฝั่ง ไม่คงอยู่ถ้ามีการเลาะผนังที่เป็นพังผืดออกมากพอ ไม่คงอยู่ ไม่คงอยู่

บทสรุป

การเอาเต้านมเทียมออกไม่ได้มีแค่วิธีเดียว ลักษณะของพังผืดที่หุ้มเต้านมเทียมอยู่เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกวิธีการผ่าตัด  ร่วมกับความเชื่อของตัวผู้ป่วยและศัลยแพทย์ด้วยว่า เห็นความจำเป็นที่จะต้องเอาพังผืดที่หุ้มเต้านมเทียมออกด้วยหรือไม่ หรือเห็นว่าการที่สิ่งที่ตกค้างอยู่ในโพรงเต้านมเทียมจะสัมผัสกับเนื้อเยื่อของร่างกายเป็นปัญหาหรือไม่

ปรับปรุงล่าสุด - 16 ก.พ.​2568